“สรภัญญ์”…ปลูกฝังค่านิยม “ไม่เอา” บุหรี่

ครูอนงลักษณ์ ศรีเวียงราช ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนทุ่งบ่อวิทยา เป็นหนึ่งในคณะทำงานเครือข่ายครูเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ จังหวัดขอนแก่น ได้เล่าให้ฟังว่า ที่โรงเรียนมีการจัดทำโครงการสรภัญญ์สู่การเรียนรู้เรื่องบุหรี่ โดยได้นำจุดเด่นของโรงเรียนที่มีอัตลักษณ์ในเรื่องของภูมิปัญญาท้องถิ่นมาช่วยเสริมการเรียนรู้ให้สนุกสนาน เข้าถึงนักเรียนมากขึ้น เพราะนักเรียนจะคุ้นชินกับทำนองสรภัญญ์อยู่แล้ว จึงได้แต่งบทสรภัญญ์เรื่องภัยบุหรี่เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้บทกลอนและการขับร้องอย่างสนุกสนานและมีสาระ ทั้งยังเป็นการอนุรักษ์สืบสานประเพณี วัฒนธรรม และรักษาไว้ซึ่งภูมิปัญญาท้องถิ่นอีสาน

ครูอนงลักษณ์เลือกใช้ภาษาที่เป็นคำง่าย ๆ ที่นักเรียนสามารถเรียนรู้ได้ไม่ยากเกินไป ซึ่งได้ศึกษาจากปราชญ์ชาวบ้าน  และผู้ปกครองที่มีความเชี่ยวชาญเพื่อให้ถูกต้องตามหลักการขับร้องสรภัญญ์ จากนั้นก็จะมีคณะทำงานที่จะนำการขับร้องสรภัญญ์ไปบูรณาการเข้ากับการสอนในแต่ละระดับชั้น โดยเลือกเนื้อหาให้เหมาะสมกับช่วงชั้นและธรรมชาติวิชาที่สอน โดยมีการจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้เพื่อให้ครูนำไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนทั้งในและนอกหลักสูตร

ตัวอย่างบทสรภัญญ์ที่ครูอนงลักษณ์และคณะทำงานช่วยกันแต่งขึ้นมา เช่น

บัดนี้จะได้กล่าวถึงเรื่องราวของบุหรี่

ทุกคนต่างรู้ดีว่าบุหรี่นี้มีภัย

ขอเตือนให้เข้าใจอย่าเข้าไปได้ลิ้มลอง

ร่างกายจะมัวหมองด้วยพิษภัยของบุหรี่

โทษนั้นมีมากมายท่านทั้งหลายจงได้ฟัง

หนึ่งนั้นปอดจะพังมะเร็งร้ายทำลายไป

ถุงลมจะโป่งพองโรคที่สองให้จำจด

อย่าได้ลิ้มลองรสหน้าไม่จดแก่เกินวัย

บุหรี่มีโทษภัยขอจงได้หนีไกลห่าง

อย่าได้ตกหลุมพลางด้วยพิษร้ายภัยบุหรี่

สามสิบเอ็ดพฤษภาวันนี้หนาอย่าลืมหลง

ทั่วโลกกำหนดลงขอให้จงจำขึ้นใจ

วันงดสูบบุหรี่จำให้ดีทั่วทุกคน

ทั่วโลกกระทำตนต่างหลีกพ้นควันบุหรี่

บอกมาเพียงเท่านี้ให้ท่านมีสุขดังฝัน

มีสุขชื่นชีวันทั่วหน้ากันทุกคนเทอญ

 

นอกจากในการเรียนการสอนแล้ว ครูอนงลักษณ์ยังฝึกให้นักเรียนได้ร้องบทกลอนสรภัญญ์เรื่องภัยบุหรี่และบทอื่นๆ เพื่อเผยแพร่ในกิจกรรมเสียงตามสาย มีการจัดประกวดเพื่อให้นักเรียนได้แต่งบทกลอนและขับร้องประชันกัน และนำนักเรียนไปขับร้องในกิจกรรมร่วมกับชุมชนในโอกาสต่างๆ  เช่น เทศกาลบุญทอดเทียนที่วัดจัดขึ้น เป็นต้น

ในอนาคต ครูอนงลักษณ์คิดต่อยอดที่จะพัฒนาไปสู่การประยุกต์ใช้ในเพลงกล่อมเด็ก หมอลำ โปงลาง  และจัดทำรูปเล่มรวบรวมบทกลอนสรภัญญ์ทั้งของครูและนักเรียนเพื่อเผยแพร่อีกด้วย

ผลงานดี ๆ เช่นนี้เกิดขึ้นจากความรักในการเรียนรู้ นำสู่การค้นหาแนวทางที่จะพัฒนางานให้นักเรียนได้เรียนรู้อย่างมีความสุข   เป็นแบบอย่างให้เห็นว่ายังมีกลยุทธ์อีกมากมายที่ครูจะนำไปใช้ได้ เพียงแต่คุณลงมือแล้วหรือยัง