การพัฒนานักเรียนแกนนำ ที่โรงเรียนศรีศักดิ์สุวรรณวิทยา อ.บางระจัน จ.สิงห์บุรี
จากการที่มีโอกาสเป็นคณะทำงานโครงการบูรณาการงานควบคุมยาสูบเพื่อพัฒนาและขยายเครือข่ายในชุมชนที่ จ.สิงห์บุรี ใน วันที่ 29 ตุลาคม 2556 ที่ผ่านมา ได้เห็นความร่วมมือของหน่วยงานสาธารณสุขอันประกอบด้วย สสจ., สสอ., รพ., รพ.สต., อสม. ตำรวจ และโรงเรียน ในอำเภอบางระจัน ร่วมมือกันอย่างแข็งขันในการทำงานรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ โดยเฉพาะโรงเรียนศรีศักดิ์สุวรรณวิทยา ซึ่งเป็นโรงเรียนมัธยมขนาดเล็ก มีนักเรียนเพียง 400 คน แต่สามารถพัฒนานักเรียนแกนนำได้สมบูรณ์แบบ ดังที่น.ส.จุฑารัตน์ อิ่มแตง และน.ส.กาญจนา ฤทธิ์เดช นักเรียนแกนนำในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 เล่าให้ฟังดังนี้
1. การรับสมัครนักเรียนแกนนำ ได้มาจากการที่นักเรียนแกนนำรุ่นพี่ (ม.5, ม.6) ไปชักชวนน้อง ม.4 ที่สนใจมาเข้าร่วมเป็นคณะทำงานนักเรียนแกนนำ ซึ่งจะประชุมกันเพื่อวางแผนการทำงาน โดยมีครูฝ่ายปกครองเป็นที่ปรึกษา
2. การอบรมนักเรียนแกนนำ จัดในลักษณะค่าย 3 วัน 2 คืน ที่วัดไม่ไกลจากโรงเรียน โดยใช้งบประมาณของโรงเรียน วิทยากรส่วนใหญ่จะเป็นรุ่นพี่แกนนำม.5, ม.6 และพี่แกนนำศิษย์เก่าที่กำลังเรียนมหาวิทยาลัยกลับมาให้การอบรมน้อง วิทยากรอื่น ๆ เช่น พระ ซึ่งท่านจะเน้นให้ใช้ธรรมะเข้ามาในการทำงานรณรงค์
3. การขยายผลสอนน้องในโรงเรียน พี่ ม.6 จะเป็นแกนนำหลักสอนน้อง ม.1 ในช่วงพักกลางวันโดยใช้เกมเป็นสื่อและสอดแทรกเรื่องบุหรี่ ได้สาระและความสนุกสนานไปพร้อมกัน
4. การจัดกิจกรรมรณรงค์โรงเรียนปลอดบุหรี่ นักเรียนแกนนำจะแบ่งงานกันในการเฝ้าระวังจุดอับต่าง ๆ เช่น บริเวณห้องน้ำ เพื่อป้องกันไม่ให้มีการแอบสูบบุหรี่ มีการตรวจค้นกระเป๋า เป้ และยึดบุหรี่พร้อมอุปกรณ์ที่ตรวจเจอ
5. การจัดทำสื่อรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ จะทำเพื่อใช้ในการสอนน้องและในการรณรงค์ต่างๆ
6. การขยายผลรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่สู่ผู้ปกครองและชุมชน จัดในวันประชุมผู้ปกครอง และเดินรณรงค์ในชุมชน
7. บูรณาการความรู้เรื่องบุหรี่ในกิจกรรมอื่น ๆ มีการวาดภาพ การบอร์ด การแสดงบทบาทสมมติ ในวันงดสูบบุหรี่โลก
8. ส่งเสริมให้เพื่อนๆในโรงเรียนมีส่วนร่วมในกิจกรรมรณรงค์ โรงเรียนได้เชิญวิทยากรจากโรงพยาบาลบางระจันมาอบรมนักเรียนทั้งโรงเรียนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้เห็นพิษภัยของบุหรี่
9. การช่วยนักเรียนให้เลิกสูบบุหรี่ นักเรียนแกนนำจะจับคู่ในการดูแลเพื่อนที่สูบบุหรี่ และในกรณีที่นักเรียนติดนิโคตินโรงเรียนจะขอความร่วมมือจากโรงพยาบาลในการดูแลช่วยเหลือร่วมกับครู ผู้ปกครองและนักเรียนแกนนำ โดยมีคุณครูที่เลิกสูบบุหรี่และถูกตัดกล่องเสียงไปแล้วมาเป็นวิทยากรและช่วยดูแลนักเรียนที่สูบบุหรี่ มีการมอบรางวัลให้กับนักเรียนที่เลิกบุหรี่ได้เพื่อเป็นกำลังใจและเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับนักเรียนอื่น ๆ
10. การส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น การได้ทำงานร่วมกันถึง 3 ปีทำให้เกิดความรัก ความผูกพันและมีหัวใจของการเป็นนักรณรงค์
ปัจจัยที่ทำให้การพัฒนานักเรียนแกนนำประสบความสำเร็จมีผลมาจาก 3 ประการ ดังนี้
1. ผู้อำนวยการโรงเรียนให้การสนับสนุนทั้งงบประมาณ การติดตามผล และให้กำลังใจในการทำงาน
2. การมีคณะทำงานที่เข้มแข็งทำงานต่อเนื่อง มีการส่งต่องานจากรุ่นสู่รุ่น
3. ความรักความสามัคคีของนักเรียนแกนนำที่ร่วมมือร่วมใจกันในการทำงาน
:: เรื่องราวดี ๆ จาก ครูวราภรณ์ หงษ์ดิลกกุล คณะทำงานเครือข่ายครูเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่