มอบโล่เชิดชูเกียรติ "ศูนย์การเรียนรู้โรงเรียนปลอดบุหรี่" ทั่วประเทศ

วันที่ 28 มิถุนายน 2566 เครือข่ายครูเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ จัดเวทีประกาศเกียรติคุณ "ศูนย์การเรียนรู้โรงเรียนปลอดบุหรี่" มอบโล่ให้ศูนย์การเรียนรู้โรงเรียนปลอดบุหรี่และโรงเรียนต้นแบบปลอดบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 87 แห่ง รวมถึงครูและคณะทำงานจุดจัดการเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่กว่า 200 คน เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้ภาคีเครือข่ายครูเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ ปกป้องเยาวชนจากการตกเป็นเหยื่อการเสพติดนิโคตินในบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า

ด้าน ดร.ธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นประธานเปิดงาน กล่าวว่า  เครือข่ายครูเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ สนับสนุนโดยมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ดำเนินโครงการโรงเรียนปลอดบุหรี่ สามารถพัฒนาจุดจัดการเครือข่ายครูเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ 10 จังหวัด   มีครูที่ได้รับการพัฒนาศักยภาพและได้รับการหนุนเสริมจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั้งประถมและมัธยมศึกษา เป็นกลไกสำคัญทำให้โรงเรียนขับเคลื่อนงานโรงเรียนปลอดบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น     การสนับสนุนให้โรงเรียนปลอดบุหรี่ ถือเป็นการส่งเสริมให้ครูพัฒนานวัตกรรมปลอดบุหรี่ ทำให้พบครูที่มีอุดมการณ์ มีจิตอาสา เครือข่ายครูฯ ถือเป็น “ตัวจริง เสียงจริง” มีความเข้มแข็ง มีศักยภาพเป็นแกนนำขับเคลื่อนนโยบายการควบคุมยาสูบในโรงเรียน เพื่อปกป้องเยาวชนจากการเป็นนักสูบหน้าใหม่ในจังหวัดของตนเอง

รศ.ดร.แล ดิลกวิทยรัตน์ คณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 1 สสส. กล่าวว่า ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ   ปี 2564 พบคนไทยผู้สูบบุหรี่ 9.9 ล้านคน คิดเป็น 17.4% ของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป ส่วนอัตราการสูบบุหรี่ในกลุ่มเยาวชนอายุ 15-24  ปี อยู่ที่ 12.7% ลดลงจากปี 2560  ที่อยู่ที่ 15.4% ใน แต่พบว่ามีการใช้บุหรี่ไฟฟ้ามากขึ้น มีคนสูบบุหรี่ไฟฟ้า 78,742 คน ในจำนวนนี้เป็นเยาวชนอายุ 15-24  ปีมากที่สุด คือ 30.5 % สสส. จึงให้ความสำคัญการป้องกันเด็กและเยาวชนไม่ให้ก้าวสู่การเป็นนักสูบหน้าใหม่ โดยสนับสนุนการขับเคลื่อนงานสถานศึกษาปลอดบุหรี่อย่างต่อเนื่อง การสร้างและขยายเครือข่ายเยาวชนแกนนำร่วมขับเคลื่อนงานควบคุมยาสูบ  การเสริมสร้างให้เด็กและเยาวชนมีข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับพิษภัยของบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า รู้เท่าทันกลยุทธ์ของธุรกิจยาสูบ

“การสร้างสังคมปลอดบุหรี่ ต้องเริ่มต้นที่โรงเรียน การจัดกิจกรรมรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ในโรงเรียน เน้นกิจกรรมที่สร้างการรับรู้โดยตรงเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง จะช่วยเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจถึงพิษภัยของบุหรี่ และช่วยป้องกันไม่ให้นักเรียนอยากทดลองสูบบุหรี่ได้จริง สิ่งเหล่านี้จะเป็นด่านแรกช่วยป้องกันเด็กและเยาวชนไม่ให้ก้าวไปสู่สิ่งเสพติดชนิดอื่นได้”  รศ.ดร.แล กล่าว

นางสุวิมล จันทร์เปรมปรุง ประธานเครือข่ายครูเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ กล่าวว่า  เยาวชนควรได้รับการปกป้องดูแลให้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยในทุกมิติ ไม่เพียงเป็นการปฏิบัติตามกฎหมายที่กำหนดให้โรงเรียนเป็นเขตปลอดบุหรี่เท่านั้น แต่รวมถึงการให้ความรู้ถึงพิษภัยของบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อปกป้องเยาวชนไม่ให้เริ่มสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งเป็นประตูสู่ยาเสพติดที่ร้ายแรงยิ่งขึ้น ซึ่งงานวิจัยทั่วโลกระบุชัดว่า นิโคตินส่งผลกระทบต่อสมองของวัยรุ่นที่กำลังพัฒนา สามารถทำให้เสพติด พร้อมที่จะติดสิ่งเสพติดอื่น ๆ ทำให้ขาดสมาธิและสมรรถนะการเรียนรู้ และเกิดความผิดปกติทางด้านอารมณ์ด้วย

“เครือข่ายครูฯ ได้พัฒนาจุดจัดการเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ 10 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ นครราชสีมา ขอนแก่น อุบลราชธานี อำนาจเจริญ กรุงเทพฯ และกระบี่ สามารถขับเคลื่อนให้โรงเรียนดำเนินงาน 7 มาตรการเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จนพัฒนาเป็นโรงเรียนต้นแบบปลอดบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สามารถเป็นศูนย์การเรียนรู้โรงเรียนปลอดบุหรี่ให้สถานศึกษาอื่นได้ ถือเป็นการดำเนินงานที่สอดคล้องและเสริมหนุนโครงการสถานศึกษาสีขาวปลอดยาเสพติดและอบายมุขของกระทรวงศึกษาธิการ” นางสุวิมล กล่าว

รศ.ดร.จักรพันธ์ เพ็ชรภูมิ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า ผลสำรวจโอกาสเสี่ยงในการสูบบุหรี่ของนักเรียน 3,156 คน ใน 4 ภูมิภาค มีนักเรียน 72.4% ระบุว่าเรียนอยู่ในโรงเรียนที่จัดกิจกรรมรณรงค์ไม่สูบบุหรี่แบบเป็นประจำ ส่วนที่เหลือเรียนอยู่ในโรงเรียนที่จัดกิจกรรมแบบนาน ๆ ครั้ง  โดยโรงเรียนที่จัดกิจกรรมรณรงค์ไม่สูบบุหรี่เป็นประจำ มีนักเรียนอยากทดลองสูบบุหรี่ 13.6% ขณะที่โรงเรียนที่จัดกิจกรรมรณรงค์ไม่สูบบุหรี่แบบนาน ๆ ครั้ง  มีนักเรียนอยากทดลองสูบบุหรี่มากกว่าเกือบ 2 เท่า คือ  23.9%

“โรงเรียนและครูส่วนใหญ่ปรับเนื้อหาและรูปแบบการสอนให้รู้เท่าทันอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า โดยนักเรียนมากกว่า 70%  รู้เท่าทันพิษภัยของบุหรี่และพอใจต่อเนื้อหาและรูปแบบการสอน ส่วนนักเรียนที่เหลือยังไม่มีความรู้ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องจัดกิจกรรมรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ในโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง และครอบคลุมนักเรียนทุกคน พร้อมยกระดับการพัฒนาเนื้อหาและรูปแบบการสอน โดยสอดแทรกข้อมูลการแพทย์และผลการวิจัยที่เชื่อถือได้เกี่ยวกับพิษภัยของบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อสร้างการรับรู้ที่ถูกต้องและเท่าทันกลยุทธ์ทางการตลาดใหม่ ๆ ของบริษัทบุหรี่” รศ.ดร.จักรพันธ์ กล่าว

ผศ.ดร.ศรีรัช ลาภใหญ่ ผู้จัดการโครงการพัฒนา ขยายผล เฝ้าระวังและจัดการความรู้ ด้านผลิตภัณฑ์เสี่ยงสุขภาพ ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) กล่าวว่า บุหรี่ไฟฟ้าไฟฟ้า Gen5 หรือเรียกว่า  toy pod เป็นบุหรี่ไฟฟ้ารุ่นใหม่ที่ออกแบบผลิตภัณฑ์ให้คล้ายของเล่น ตุ๊กตา โมเดล ของสะสม ขวดหรือกล่องเครื่องดื่ม   กล่องขนม เกม ฯลฯ มีขนาดเล็กมาก มีสีสันสวยงาม มีกลิ่นหอม มีหลายรสชาติ รวมทั้งใช้ตัวการ์ตูนหรือใช้ชื่อตัวการ์ตูนเป็นชื่อผลิตภัณฑ์ เพื่อใช้สื่อสารบุหรี่ไฟฟ้ารุ่นใหม่ นับเป็นภัยใหม่ที่ล่อลวงใจ คุกคามเด็กและเยาวชนและทำให้เข้าใจผิด 

ทั้งนี้ ในงานมีการมอบโล่และประกาศเกียรติคุณการเรียนรู้โรงเรียนปลอดบุหรี่ ประจำปีการศึกษา 2565 ได้แก่ ศูนย์การเรียนรู้โรงเรียนปลอดบุหรี่ 62 แห่ง, ครูผู้ขับเคลื่อนงานศูนย์การเรียนรู้โรงเรียนปลอดบุหรี่ 62 คน, โรงเรียนต้นแบบปลอดบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยั่งยืน 13 แห่ง, ครูผู้ขับเคลื่อนงานโรงเรียนปลอดบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 13 คน, โรงเรียนต้นแบบปลอดบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 12 แห่ง, ครูผู้ขับเคลื่อนงานโรงเรียนปลอดบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 12 คน, คณะทำงานจุดจัดการเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ 10 จังหวัด และการจัดนิทรรศการจากโรงเรียนที่มีผลการดำเนินงาน 7 มาตรการเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่เป็นรูปธรรม และมีนวัตกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ตามบริบทของตนเอง