เครือข่ายโรงเรียนปลอดบุหรี่ ร่วมผลักดันร่าง พรบ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่

 

เครือข่ายครูเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ ร่วมกับโรงเรียนในเครือข่าย ขอสนับสนุนกระทรวงสาธารณสุขที่ได้ดําเนินการให้มีการแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติคุ้มครองสุขภาพผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ.2535 ซึ่งใช้มานานแล้ว ให้ทันกับสถานการณ์ปัจจุบันที่บริษัทบุหรี่ได้พัฒนาเทคนิคการตลาดใหม่ ๆ  รวมทั้งมีผลิตภัณฑ์ยาสูบชนิดใหม่ ๆ ออกสู่ตลาด  ทำให้มีผู้เสพติดบุหรี่รายใหม่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเพื่อให้สอดคล้องกับพันธกรณีที่ประเทศไทยได้ให้สัตยาบัน เป็ นภาคีของอนุสัญญาควบคุมการบริโภคยาสูบขององค์การอนามัยโลก ทั้งนี้เพื่อลดจำนวนนักสูบหน้าใหม่และลดอัตราการสูบบุหรี่ในภาพรวมของประเทศ

ประเด็นที่แก้ไขเพิ่มเติมใน พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่ 

• แก้ไขคำนิยามให้ทันกับกลยุทธ์ของบริษัทบุหรี่
- คำว่า “ผลิตภัณฑ์ยาสูบ”  ให้หมายรวมถึงผลิตภัณฑ์ยาสูบใหม่ ๆ อาทิ  บุหรี่ไฟฟ้า  บารากู่
- คำว่า “การโฆษณา”  ให้ครอบคลุมการสื่อสารการตลาดรูปแบบใหม่ ๆ อาทิ การใช้สื่อบุคคล “พริตตี้” 

• เพิ่มมาตรการป้องกันการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ยาสูบของเยาวชน
- ห้ามขายผลิตภัณฑ์ยาสูบแก่ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี (ปัจจุบันกำหนดไว้ที่ 18 ปี)
- ห้ามขายผลิตภัณฑ์ยาสูบผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (ปัจจุบันมีนโยบายห้าม แต่ไม่มีกฎหมายรองรับ)
- ห้ามขายบุหรี่ซิกาแรตที่บรรจุซองน้อยกว่า 20 มวน 
- ห้ามแบ่งขายบุหรี่ซิกาแรตเป็นมวน ๆ (ปัจจุบันห้ามอยู่แล้ว แต่กฎหมายเขียนไว้ไม่ชัดเจน)

• เพิ่มข้อห้ามการโฆษณาทางอ้อม
- ห้ามการสื่อสารการตลาดในสื่อต่าง ๆ รวมถึงการใช้สื่อบุคคล (พริตตี้)
- ห้ามเผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับ “กิจกรรมเพื่อสังคม” (CSR) ของบริษัทบุหรี่ ในทุกสื่อ (ปัจจุบันห้ามเพียงสื่อวิทยุและโทรทัศน์)

• เพิ่มมาตรการอื่น ๆ ตามที่กำหนดในอนุสัญญาควบคุมยาสูบ องค์การอนามัยโลก
- ห้ามส่วนราชการรับการอุปถัมภ์จากธุรกิจยาสูบ (ปัจจุบันห้ามโดยมติ ครม.)
- กำหนดลักษณะของจุดขายปลีกยาสูบ
- กำหนดให้บริษัทบุหรี่ต้องจัดส่งรายงานประจำปีให้คณะกรรมการควบคุมการบริโภคยาสูบ
- กำหนดแนวทางและขั้นตอนการติดต่อระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับบริษัทบุหรี่ ในกรณีที่มีความจำเป็น

• เพิ่มมาตรการคุ้มครองสุขภาพผู้ไม่สูบบุหรี่ 
- กำหนดให้ผู้ดำเนินการ (เจ้าของสถานที่สาธารณะ) มีหน้าที่รับผิดชอบไม่ให้มีการสูบบุหรี่ในเขตปลอดบุหรี่
- ปรับปรุงขั้นตอนการบังคับใช้กฎหมายเขตปลอดบุหรี่

• ปรับปรุงโครงสร้างคณะกรรมการควบคุมยาสูบในทุกระดับ
- กำหนดให้มีคณะกรรมการควบคุมยาสูบระดับประเทศ  และคณะกรรมการควบคุมยาสูบระดับจังหวัด รวมทั้งให้มีการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการควบคุมยาสูบ

ทั้งนี้ เนื่องจากงานควบคุมยาสูบของประเทศไทย ยังขาดโครงสร้างองค์กรรัฐที่จะสนับสนุนการควบคุมยาสูบในระดับจังหวัด  ทั้ง ๆ ที่มีคนไทยที่สูบบุหรี่กว่าร้อยละ 90 อาศัยอยู่ในต่างจังหวัด  จึงมีความจำเป็นที่จะต้องกำหนดให้มีคณะกรรมการระดับจังหวัดในร่างกฎหมายที่แก้ไขเพิ่มเติมเพื่อทำหน้าที่ประสานงานและสนับสนุนการควบคุมยาสูบในระดับจังหวัด

 

ร่วมลงชื่อสนับสนุน http://www.change.org/tobacco-bill